วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ยุงร้ายกวนใจ...กำจัดยังไงดี

ไข้เลือดออก

          ในสภาวะที่มีน้ำท่วมขัง แถมบางจุดยังเป็นน้ำเน่าเสีย ไม่น่าแปลกที่ "ยุง" จะเป็นอีกหนึ่งปัญหารบกวนเรา จริง ๆ รบกวนน่ะไม่เท่าไหร่หรอก แต่หาก "ยุง" มาพร้อมกับโรคร้าย โดยเฉพาะไข้เลือดออกแล้วล่ะใครติดเชื้อเขาไปก็มีโอกาสถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว วันนี้กระปุกดอทคอม จึงนำวิธีกำจัดยุงมาฝากเพื่อน ๆ กันโดยเฉพาะ
          สำหรับวิธีกำจัดยุงมีหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายวิธี นอกจากการใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า หรือฉีดพ่นสารเคมีแล้ว ยังมีวิธีดี ๆ ที่เรามาแนะนำต่อไปนี้

วิธีกำจัดลูกน้ำยุง

เลี้ยงปลาไว้กินลูกน้ำ
          ปลาที่นิยมเลี้ยงกันไว้กินลูกน้ำก็คือ ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลากัด โดยมักจะเลี้ยงปลาเหล่านี้ไว้ในโอ่ง หรือบ่อซีเมนต์ ไว้สำหรับกินลูกน้ำในน้ำ ซึ่งจะช่วยควบคุมยุงลายได้ทางหนึ่ง โดยให้ใส่ปลาหางนกยูง 2-10 ตัวต่อภาชนะ แต่หากกลัวว่าปลาจะยิ่งเพาะพันธุ์มากขึ้น ก็ให้เลือกเลี้ยงเฉพาะปลาหางนกยูงตัวผู้ก็ได้


ใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำ
          แบคทีเรียพวกนี้จะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติ จึงไม่เป็นพิษต่อคนและสัตว์ โดยหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งจะมีชื่อเรียกทางการค้าแตกต่างกันไป เช่น Bactimos, Teknar, VectoBac, Larvitab ฯลฯ และมีหลายสูตรให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดของแหล่งน้ำ และชนิดของลูกน้ำยุง

          นอกจากนี้ น้ำอีเอ็มที่ใช้แก้น้ำเสียก็สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้เช่นกัน เพราะอีเอ็มมีประสิทธิภาพในการปรับสภาพน้ำ ลดความเป็นกรด - ด่างในน้ำ ทำให้ลูกน้ำยุงลายไม่สามารถอยู่ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม


ใช้ทรายอะเบทกำจัดยุงลาย
          บางคนเรียกทรายอะเบท ว่า ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือ ทรายเคมีฟอส วิธีการใช้ก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำทรายอะเบท 1 กรัม ใส่ในน้ำ 10 ลิตร (อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 20 กรัม) ก็จะช่วยกำจัดลูกน้ำอย่างได้ผล โดยจะป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำได้นานประมาณ 1-2 เดือนเลยทีเดียว


ใช้วิธีกาลักน้ำ
          หากโอ่ง กระป๋อง ถัง หรือบ่อซีเมนต์อะไรก็ตามในบ้านของคุณมีลูกน้ำว่ายไปว่ายมาอยู่ กลัวจะกำจัดไม่หมด ลองใช้วิธีนี้ดูนี้ เริ่มจากเตรียมสายยางยาวประมาณ 2 เท่า ของความสูงภาชนะ และเติมน้ำให้เต็มตลอดสายยางไว้ จากนั้นใช้มือหมุนกวนภาชนะประมาณ 2-3 รอบ เพื่อให้ตะกอนสกปรก รวมทั้งลูกน้ำที่กระจัดกระจายอยู่ในภาชนะจะถูกแรงหมุนเหวี่ยงของน้ำ กวาดไล่มารวมอยู่ที่กึ่งกลางของพื้นภาชนะ จากนั้นจึงใช้สายยางที่เตรียมไว้ดูดเอาลูกน้ำ ตัวโม่ง และตะกอนกำจัดทิ้งไปพร้อม ๆ กันซะ ทีนี้ภาชนะของคุณก็จะสะอาดและปลอดลูกน้ำยุงลายแน่นอน

ยุงลาย



          นอกจากวิธีการกำจัดลูกน้ำของยุงแล้ว ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังได้แนะนำวิธีง่าย ๆ ที่ประหยัดและปลอดภัยด้วยการใช้ "สารลดแรงตึงผิว" เป็นตัวช่วยกำจัดตัวยุงได้ด้วย โดยสารลดแรงตึงผิวนี้จะทำให้เยื่อบุรูหายใจ (spiracle) ของแมลงสูญเสียสภาพการควบคุมความสมดุลของน้ำภายในตัวแมลง (dehydration) และทำให้แมลงตายในที่สุด

          อ๊ะ ๆ อย่าเพิ่งทำหน้างงว่าจะไปหาสารลดแรงตึงผิวได้ที่ไหน เพราะความจริงสารลดตึงผิวมีใช้กันอยู่ทุกบ้านแน่นอน ก็อย่างเช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว นั่นไงล่ะ เอาล่ะ...ไม่พูดพร่ำทำเพลงให้มากกว่านี้ ไปดูวิธีการกันเลยจ้า
วิธีกำจัดยุง

ใช้ผงซักฟอก

          ให้นำผงซักฟอกโรยลงในภาชนะ หรือวัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ ฯลฯ ทีนี้ผงซักฟอกจะกระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ เมื่อลูกน้ำ หรือตัวโม่งของยุงลายจะขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ มันก็จะดูดซับเอาสารเข้าไปในระบบหายใจด้วย ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบหายใจจนตายในที่สุด

ใช้น้ำยาล้างจานโฉบจับยุง

          วิธีนี้ทำไม่ยาก (อาจต้องใช้วิทยายุทธ์สักเล็กน้อย อิอิ) โดยให้บีบน้ำยาล้างจานทาให้ทั่วพื้นจานพลาสติกขนาดพอเหมาะ ทีนี้พอยุงบินมาใกล้ ๆ ก็ใช้จานตะปบซะ เทคนิคเดียวกับการใช้ไม้ช็อตยุงนั่นเอง แต่วิธีนี้ยุงลายจะถูกจับตายอยู่ที่พื้นจานเป็นหลักฐานให้เราเห็นเต็มตา

ใช้น้ำยาล้างจาน/แชมพู/สบู่เหลวฉีดพ่นยุง

          หากคุ้นเคยกับวิธีฉีดพ่นยา ลองใช้วิธีนี้ นำน้ำยาล้างจาน หรือแชมพู หรือสบู่เหลว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ตวงใส่กระบอกฉีดพรมผ้า นำไปฉีดกลุ่มยุงลายที่เกาะอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ตามมุมบ้าน ผนังห้องน้ำ หรือในภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถกำจัดยุงลายในบ้านได้อย่างดีทีเดียว

          นอกจากนั้นแล้ว หากต้องกำลังยุงที่แฝงตัวอยู่ในกองผ้า ผ้าม่าน ที่นอน หมอน มุ้ง อะไรก็ตาม ให้เจือจางน้ำยาล้างจานกับน้ำเปล่าในอัตราส่วนผสม น้ำยาล้างจาน 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 4 ส่วน แล้วนำไปฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่กลุ่มยุงที่พบเห็นเกาะเป็นกลุ่มตามบริเวณต่าง ๆ ดังกล่าว ก็จะสามารถกำจัดยุงได้เช่นกันจ้ะ

กำจัดยุง


          แต่สำหรับบ้านไหนที่ไม่ว่าจะลองวิธีไหนแล้ว ก็ยังกำจัดยุงก็ไม่หมดสักที ลองมาป้องกันตัวเองจากยุงด้วยสมุนไพร 4 ชนิดที่เรานำมาแนะนำกันดีกว่า นั่นก็คือ

ตะไคร้   
          สังเกตุไหมว่าสมุนไพรไล่ยุงที่มักวางขายกันทั่วไปจะมีตะไคร้เป็นส่วนผสมอยู่ ด้วย เพราะตะไคร้เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่ยุงขยาดกลิ่นมากที่สุด และหากบ้านเรามีตะไคร้ก็นำตะไคร้มาตำให้แหลก ผสมกับน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำ ก่อนไปเคี่ยวเป็นน้ำมัน ทีนี้ก็จะได้ตะไคร้ทาผิวที่ยุงเกลียดสุด ๆ แล้วล่ะ
กระเทียม 
          ตำกระเทียมให้พอบุบ ผสมกับน้ำแล้วทาลงบนจุดชีพจรต่าง ๆ ในร่างกายและบนใบหน้าจะช่วยให้ยุงไม่เข้าใกล้อีก แต่ระวังอย่าให้เข้าตาเด็ดขาด

วานิลา  

         ผสมผงวานิลากับน้ำเล็กน้อย แล้วทาลงบริเวณจุดชีพจรบนผิวหนัง หรือจะแต้มลงบนเสื้อผ้าก็จะช่วยให้ยุงขยาด ไม่กล้าเข้ามาใกล้ตัวเราได้

น้ำมันมะกอก 

         นำน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส มะนาว ตะไคร้ ทีทรีไธม์ และ เปปเปอร์มินต์ หยดลงในน้ำมันมะกอก 2-3 หยด แล้วทาลงบนผิวจะช่วยให้ยุงไม่เข้าใกล้


       
   ว้าว...มีหลากวิธีให้เลือกสรรกันขนาดนี้ ยุงร้ายกวนใจก็คงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้วใช่ไหมจ๊ะ
 
ที่มาhttp://hilight.kapook.com/view/64867

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เขื่อนที่สำคัญของประเทศไทย

 เขื่อนที่สำคัญของประเทศไทย


           ช่วงน้ำท่วม ทำให้เรารู้จักแม่น้ำ ลำคลอง และเขื่อนกั้นน้ำ ที่น้องน้ำไหลผ่านมากมาย วันนี้เรามารู้จักเขื่อนที่สำคัญของประเทศไทยกันเถอะ


1. เขื่อนภูมิพล (เขื่อนยันฮี)
            เป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ กั้นลำน้ำปิง สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2507 ตั้งอยู่ที่ อ. สามเงา จ. ตาก


2. เขื่อนเจ้าพระยา
            เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กั้นลำน้ำเจ้าพระยา ที่ ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เปิดใช้เมื่อวันที่  7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500


3. เขื่อนศรีนครินทร์ (เขื่อนเจ้าเณร)
            เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำแควใหญ่ ในเขต อ. ศรีสวัสดิ์ฯ จ. กาญจนบุรี สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2515


4. เขื่อนสิริกิติ์ (เขื่อนผาซ่อม)
            เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำน่านที่ผาซ่อม อ. ท่าปลา จ. อุตรดิตถ์ เป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2515


5. เขื่อนอุบลรัตน์ (เขื่อนพองหนีบ)
            เป็นเขื่อนดิน สร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง ตั้งอยู่ที่ ต.โคกสูง อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2509


6. เขื่อนวชิราลงกรณ์
            เป็นเขื่อนทดน้ำ ใช้ประโยชน์ในทางเกษตร กั้นลำน้ำแม่กลองที่ ต. ม่วงชุม อ. ท่าม่วง  จ. กาญจนบุรี สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2512


7. เขื่อนสิรินธร (เขื่อนลำโดมน้อย)
            เป็นเขื่อนคอนกรีต กั้นแม่น้ำลำโดมน้อย ต. คันไร่ อ. พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี  สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514


8. เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม)
            กั้นลำน้ำพอง ต. ทุ่งพระ อ. ดอนสาน จ. ชัยภูมิ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2516


9. เขื่อนแก่งกระจาน
            เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี ท้องที่ ต. สองพี่น้อง อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี สร้างเสร็จเมื่อ   พ.ศ. 2509


10. เขื่อนปราณบุรี
            กั้นแม่น้ำปราณบุรี ในเขตพื้นที่ อ. ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2518


11. เขื่อนกิ่วลม
            เป็นเขื่อนคอนกรีต กั้นแม่น้ำวัง ที่ อ. เมือง จ. ลำปาง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2514


12. เขื่อนลำปาว
            เป็นเขื่อนดินกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง ที่เขตติดต่อ  อ. สหัสขันธ์  อ. ยางตลาด  และ      อ. เมือง  จ. กาฬสินธุ์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511



13. เขื่อนน้ำอูน
            เป็นเขื่อนดิน กั้นแม่น้ำอูน ในพื้นที่ อ. พังโคน จ. สกลนคร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2516


14. เขื่อนลำพระเพลิง
            เป็นเขื่อนดิน กั้นแม่น้ำลำพระเพลิงในเขตพื้นที่ อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2510


15. เขื่อนลำตะคอง
            เป็นเขื่อนดิน กั้นแม่น้ำลำตะคอง ในเขต อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512


16. เขื่อนน้ำพุง
            กั้นลำน้ำพุงบนเทือกเขาภูพาน อ. กุดบาก จ. สกลนคร สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2508


17. เขื่อนพิมาย
            กั้นแม่น้ำมูล ในเขต อ. พิมาย จ. นครราชสีมา สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2493


18. เขื่อนห้วยหลวง
            กั้นลำน้ำห้วยขวาง ในเขต จ. อุดรธานี สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2522


19. เขื่อนกระเสียว
            เป็นเขื่อนเก็บน้ำเพื่อใช้ในการชลประทาน และบรรเทาอุทกภัยให้แก่พื้นที่ในเขตโครงการสามชุก อ. สามชุก จ. สุพรรณบุรี สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2524


20. เขื่อนแม่งัด
     กั้นลำน้ำแม่งัด ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขื่อนเก็บน้ำเพื่อใช้ในการ                 ชลประทาน บรรเทาอุทกภัย และผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2527


21. เขื่อนพระรามหก
            เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย กั้นแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลท่าหลวง  อำเภอท่าเรือ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำพิธีเปิดเมื่อ พ.ศ. 2467


22. เขื่อนน้ำงึม
            กั้นแม่น้ำโขง เขต จ. หนองคาย เป็นโครงการกักเก็บน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกในราชอาณาจักรลาว ดำเนินงานโดย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งเอเซียตะวันออกไกลขององค์การสหประชาชาติสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2540


23. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
           กั้นแม่น้ำป่าสัก  ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และบรรเทาปัญหาอุกภัยในพื้นที่ เขตลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตลอดจนกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สร้างเสร็จเมื่อวันที่  30 กันยายน พ.ศ.2542 และในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และทรงพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" ซึ่งหมายความว่า เป็นเขื่อนที่เก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพ

รวบรวมและเรียบเรียง จาก

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประชาสัมพันธ์ “โครงการคุณหมอสายด่วน”

                         เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นจำนวนหลายล้านคน ตลอดจนมีผลต่อโรงพยาบาลใหญ่ในหลายๆ จังหวัดเป็นจำนวนไม่น้อย กลุ่มคุณหมอสายด่วนจึงได้รวมตัวกันขึ้นมาโดยมีทั้งภาคประชาชนที่ประกอบด้วยแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์จำนวนกว่า 100 คนจากทั่วประเทศ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ บุคคลากรในมหาวิทยาลัย องค์กรเอกชนและเอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพื่อแบ่งเบาภาระอันยิ่งใหญ่ของบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐ และเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัย โดยมีศูนย์กลางการประสานงานที่โรงพยาบาลราชวิถี
 
                       กลุ่มคุณหมอสายด่วนให้บริการสายด่วน 50 คู่สาย โดยมีแพทย์จำนวน 50 คน จะให้คำปรึกษาในการรักษาและปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งยังมีแผนการขยายงานในส่วนของการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกจากที่พักอาศัยซึ่งประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งการให้บริการด้านการแพทย์เคลื่อนที่ไปยังศูนย์พักพิงหรือชุมชนที่ประสบภัยต่าง ๆ ประชาชนทั่วไปสามารถโทรรับคำปรึกษาได้ที่

                               088-686-5116 ถึง 45
                               090-410-7600 ถึง 20

                       ตั้งแต่ 08.00 – 20.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2554 หากมีความเดือดร้อนของประชาชนต่อเนื่องจะพิจารณาขยายเวลาต่อไป

ผู้ประสานงานโครงการ
นพ.ชูศักดิ์ หนูแดง ผู้ประสานงานฝ่ายการแพทย์ 081-540-4749
อ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้ประสานงานเครือข่าย 090-563-3170


วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประกาศ "บางเขน" เขตอพยพ


น้ำท่วมเต็มพื้นที่แล้ว

           เนื่องจากถนนสายหลักและสายรองทุกเส้นทางน้ำท่วมครอบคลุมทั้งพื้นที่แล้ว การสัญจรในถนนสายหลักมีระดับน้ำท่วมสูงจนต้องปิดการจราจรทุกเส้นทาง (รถเล็กไม่สามารถเข้าได้) ต้องอาศัยรถของทหาร , รถขนาดใหญ่ของเอกชนที่จัดมาบริการประชาชน  ตลอดจนเจ้าของรถใจดีที่อนุญาติให้อาศัยรถออกจากจุดที่น้ำท่วมขังสูงไปยังจุดหมาย สำหรับในถนนสายรอง หรือซอยที่มีประชาชนหนาแน่น หน่วยทหารก็ได้จัดรถและเรือ(บางเส้นทาง)ไว้บริการรับส่ง ซึ่งอาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนยามปกติ จึงขอให้ทุกท่านที่ตัดสินใจไม่อพยพ ใช้ชีวิตในยามไม่ปกติด้วยความพร้อม มีน้ำใจต่อกัน และเพื่อความไม่ประมาท หากท่านมีคนในครอบครัวที่เจ็บป่วย อายุมาก หรือเด็กเล็กช่วยตัวเองไม่ได้  ขอให้ท่านนำเขาเหล่านั้นไปที่ในสถานที่ปลอดภัยจะดีกว่า  
           ท่านที่มีความประสงค์จะอพยพไปยังสถานที่พักพิงของราชการ (วิทยาลัยพละชลบุรี) ให้ท่านไปขึ้นรถได้ที่แฟชั่นไอซ์แลนด์ มีรถออกทุกวัน ทุกชั่งโมง ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.

            ทั้งนี้ สำนักงานเขตบางเขน ขอขอบคุณในความมีน้ำใจของหน่วยทหาร เอกชน และผู้มีน้ำใจทุกท่าน มา ณ ที่นี้ด้วยความใจจริง และหวังว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันในเร็ววัน